การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ที่ศึกษาข้อมูลจากชายหญิง 451,743 คน จาก 10 ประเทศในยุโรป ในระยะเวลา 19 ปี พบว่า การบริโภคน้ำอัดลมวันละ 2 แก้วขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและลำไส้ และหากดื่มน้ำอัดลมประเภทไดเอ็ท หรือที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล วันละ 2 แก้วขึ้นไป จะมีส่วนเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนี้ ในการศึกษายังพบว่า การดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมากต่อวัน ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสันอีกด้วย
ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในการวิจัยนี้ อยู่ที่ 50.8 ปี และราว 71.1% เป็นผู้หญิง
การศึกษานี้ครอบคลุมผลกระทบของการบริโภคน้ำอัดลมในทุกรูปแบบ ทั้งที่ใช้น้ำตาลธรรมชาติและที่ใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ขนาดการบริโภค 1 แก้ว เท่ากับประมาณ 250 มิลลิลิตร แต่ปัจจุบันน้ำอัดลมที่จำหน่ายทั่วโลก 1 กระป๋องมีปริมาณ 355 มิลลิลิตร
ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ด้วยการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลน้อยหรือปราศจากน้ำตาลกันมากขึ้น เช่นเดียวกับการผลักดันภาษีน้ำอัดลมในสหรัฐฯ
ซึ่งเกิดขึ้นในบางเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, โอเรกอน และอิลลินอยส์ ท่ามกลางแรงกดดันจากผู้ประกอบการน้ำอัดลมรายใหญ่ที่พยายามคัดค้านประเด็นดังกล่าว