Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

เรื่อง (ไม่ )ธรรมดาเมื่อปวดท้องประจำเดือน

เชื่อว่าคุณผู้หญิงหลายคนเมื่อถึงช่วงเวลาของการมีรอบเดือน คงจะเคยทุกข์ทรมานด้วยอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากมีประจำเดือนกันบ้าง โดยบางคนอาจจะเกิดอาการปวดเพียงแค่วันแรกๆ ของการมีรอบเดือน ในขณะที่อีกหลายคนอาจจะเกิดอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถทำงานทำการ หรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อาการปวดเหล่านี้จริงๆ แล้ว เกิดมาจากสาเหตุอะไร และการปวดเหล่านั้นจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของร่างกายได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบจาก นพ.วิบูลย์ กมลพรวิจิตร สูตินรีแพทย์มาให้

*** ประจำเดือน เรื่องคุ้ยเคย
ประจำ เดือนเกิดขึ้นเมื่อกระบวนการของต่อมไร้ท่อในร่างกายมีความพร้อม และเตรียมพร้อมเพื่อที่จะมีการเจริญพันธุ์ต่อไป ทำให้รังไข่เริ่มมีการทำงาน มีการตกไข่ โดยในส่วนของเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะมีการหนาตัวมากขึ้น มากเรื่อยๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับไข่ที่จะตกมา

นพ.วิบูลย์ อธิบายว่า ถ้านับตามรอบเดือนปกติที่มีระยะเวลาประมาณ 28 วันนั้น สมมุติว่าวันแรกของการเริ่มประจำเดือนเป็นวันที่ 0 พอเริ่มวันที่ 1 เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหนาตัวเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 14 จะเป็นวันที่ไข่ตกพอดี ซึ่งไข่ที่ตกนั้นก็จะวิ่งผ่านท่อนำไข่เข้ามาที่โพรงมดลูก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการเดินทางต่ออีก 7 วัน โดยจะนับเป็นวันที่ 21 พอดี ซึ่งถ้าเผื่อว่ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในช่วงที่ไข่กำลังเดินทาง ไข่ก็จะมาฝังตัวในโพรงมดลูก แล้วเกิดเป็นตัวอ่อนต่อไป แต่ถ้าไข่นั้นไม่ได้รับการปฏิสนธิ ก็จะไม่เกิดการฝังตัว เมื่อถึงวันที่ 28 เยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้เพื่อการฝังตัวของตัวอ่อนก็จะหลุดลอกออกมากลาย เป็นประจำเดือนนั่นเอง

รอบประจำเดือนโดยเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วไปนั้น จะอยู่ที่ 28 วันอย่างที่บอก แต่ นพ.วิบูลย์ บอกว่า สามารถบวก ลบได้อีก 7 วันคือ บางคนรอบประจำเดือนอาจจะอยู่ที่ 21 จนถึง 35 วันก็ได้ ซึ่งถือว่ายังไม่เกิดความผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าหากใครที่มีรอบประจำเดือนน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ก็ถือว่าอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้เช่นกัน

*** ปวดท้องประจำเดือน (มิ) ใช่เรื่องปกติ?
นพ.วิบูลย์ บอกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ประมาณ 50% นั้น เมื่อย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และมีประจำเดือนก็จะต้องพบกับอาการปวดท้องประจำเดือนสักช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งการปวดประจำเดือนนั้นเกิดจากการบีบรัดตัวของมดลูก โดยจะเกิดอาการปวดบีบๆ หรือปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย หรือบางคนอาจจะเกิดอาการปวดร้าวไปจนถึงหลัง หรือก้นกบก็ได้ด้วย

การปวดท้องประจำเดือน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ปวดแบบหาสาเหตุไม่ได้ กับการปวดแบบมีสาเหตุ

- ปวดท้องแบบไม่มีสาเหตุ ที่บอกว่าเป็นการปวดท้องแบบไม่มีสาเหตุนั้น ก็เพราะว่าการปวดแบบนี้ไม่มีการตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปวดบีบเฉพาะวันแรก หรือวันที่สองของการมีประจำเดือนเท่านั้น ซึ่งการปวดลักษณะนี้ถ้าตรวจแล้วก็จะไม่พบความผิดปกติใดๆ สาเหตุการปวดท้องลักษณะนี้ นพ. วิบูลย์ อรรถาธิบายว่า อาจจะเกิดจากสารบางอย่างในร่างกายมีปริมาณสูงกว่าคนทั่วไป ทำให้การบีบตัวของมดลูกเกิดบีบตัวแรงขึ้น หรือบีบแบบผิดปกติ ก็อาจจะที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ โดยเฉพาะสารในกลุ่มของ โพรสตาแกรนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในร่างกายของคนเรา ซึ่งถ้าสารนี้หลั่งออกมามากผิดปกติ ไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะมีผลทำให้ทำให้แต่ละคนปวดไม่ท้องเหมือนกัน บางคนอาจจะปวดน้อย บางคนปวดเยอะ นอกจากนั้นก็ยังมีสารอื่นๆ อีกหลายตัวที่น่าจะมีผลสัมพันธ์ต่อการปวดประจำเดือน แต่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษากันอยู่ การปวดในลักษณะนี้ เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดอาจจะน้อยลงได้ หรือเมื่อมีบุตรที่คลอดตามธรรมชาติ อาการปวดก็จะลดน้อยลง

- การปวดแบบมีสาเหตุ ลักษณะนี้จะสังเกตได้ง่ายๆ คือ ช่วงที่มีประจำเดือนอาการปวดท้องจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือปวดมากจนไปรบกวนคุณภาพชีวิต ซึ่งการปวดแบบนี้ก็มาจากได้หลายๆ สาเหตุเช่นกัน เช่น เนื้องอก ซีสต์ ฯลฯ

*** เมื่อไหร่ถึงจะรู้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว
นอกจากการปวดในลักษณะที่อาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว ยังสังเกตความผิดปกติได้ดังต่อไปนี้

- อาการปวดเป็นมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมปวดพอทำงานได้ ต่อมาอาจจะปวดจนทำงานไม่ไหวจนต้องไปฉีดยา และต่อมาก็ต้องฉีดยาในปริมาณมากขึ้น หรือจากการรับประทานยาแก้ปวดธรรมดา ก็ต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้น หรือต้องพึ่งยาแรงขึ้น
- มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดประจำเดือน แล้วมีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายลำบาก หรือปัสสาวะมีปัญหาทุกครั้งที่มีประจำเดือน และเกิดอาการปวดท้อง หรืออาจจะปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำแล้วไม่มีบุตร ก็อาจจะแสดงว่าเกิดความปิดปกติขึ้นกับร่างกายแล้ว

ความผิดปกติที่ เกิดขึ้น แล้วแสดงออกมาทางการปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติก็อาจจะมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติจากการมีบางสิ่งปิดกั้นการออกของประจำเดือน เช่น บางคนมีเยื่อพรหมจรรย์ปิดสนิทจนประจำเดือนไม่สามารถออกมาได้ นอกจากนั้นบางคนอาจจะมีจากสาเหตุจากปากมดลูกตีบตัน, เนื้องอกในมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก, คนที่เคยขูดมดลูก แล้วเกิดพังผืดในโพรงมดลูก, การใส่ห่วงคุมกำเนิดก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดได้, มดลูกผิดปกติตั้งแต่กำเนิด, ช็อกโกแลตซีสต์, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ฯลฯ

*** การวินิจฉัย และการตรวจรักษา
นพ. วิบูลย์ แนะนำว่า ในเบื้องต้นให้ลองสังเกตตัวเองก่อนว่าเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าคิดว่าเกิดความผิดปกติขึ้น ก็ควรจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยเมื่อไปถึงแพทย์ก็จะต้องเริ่มจากการซักประวัติคนไข้ก่อน หลังจากนั้นอาจจะต้องตรวจภายในเพื่อดูความผิดปกติ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นที่ดีที่สุด แต่หากว่าบางคนไม่อยากตรวจภายใน ก็สามารถใช้วิธีอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติได้

วิธีการรักษาก็มีหลายอย่างตามลักษณะของอาการ

- กลุ่มที่ปวดแบบไม่มีสาเหตุ ก็สามารถรักษาด้วยการให้รับประทานยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดเวลามีประจำเดือน แล้วแต่ความเหมาะสมของกรณีไป

- กลุ่มที่มีปวดแบบมีสาเหตุ ก็ต้องรักษาตามโรคที่เป็นและวินิจฉัยได้ ถ้าเป็นกลุ่มของอาการที่มาจากเนื้องอก หรือช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดก็เป็นตัวช่วยหนึ่งในการรักษา
การผ่าตัดก็มีทั้งการผ่าตัดแบบ เปิดหน้าท้องธรรมดา ผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้องผ่านทางช่องท้อง และการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านทางช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้ เพราะจะไม่เกิดแผลใดๆ กับร่างกายเลย

*** ดูแลสุขอนามัยช่วงมีประจำเดือน
สำหรับ การดูแลสุขอนามัยในช่วงของการมีประจำเดือนนั้น นพ. วิบูลย์บอกว่า ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ้าอนามัยนั้นก็สามารถเปลี่ยนได้บ่อยเท่าที่ต้องการ เพราะยิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งสบายตัวมากขึ้นเท่านั้นเอง โดยเฉพาะคนที่ประจำเดือนมาก ส่วนวิธีการดูแลความสะอาดนั้นก็ทำความสะอาดในแบบธรรมดา ปกติ เพียงแค่ดูแลอาบน้ำให้สะอาดก็เพียงพอ หรือถ้าใครที่อยากจะใช้น้ำยาทำความสะอาดเฉพาะที่ก็สามารถทำได้ แต่ก็ทำความสะอาดแค่เพียงภายนอกก็พอ ไม่ต้องสวนล้างเข้าไปจนถึงภายใน เพราะไม่อย่างนั้นจะยิ่งเกิดอันตรายได้จากการติดเชื้อ หรือการอักเสบได้

อย่าง ที่รู้กันว่าร่างกายของผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นการดูแล และการสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่เสมอ เมื่อเกิดความปิดปกติขึ้นก็จะทำให้หาวิธีการแก้ไข และรักษาได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงทีนั่นเอง

*** ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ***
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

รายการบล็อกของฉัน