Air Protein บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเนื้อทดแทนที่เรียกว่า Air Meat โดยเป็นเนื้อที่มีสวนผสมหลักมาจากธาตุต่างๆในอากาศ สัมผัสเหมือนเนื้อจริง อุดมโภชนา-โปรตีน หวังช่วยแก้ปัญหาโลก
โดย Dr. Lisa Dyson และ Dr. John Reed ได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยเก่าจากยุค 1960 ของ NASA ที่ผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ โดยใช้แบคทีเรีย ที่สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารอาหารได้ พวกเขาได้นำกระบวนการนี้มาผลิตจริง
ซึ่ง Air Protein ได้นำอากาศ ที่มีส่วนประกอบของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ไนโตรเจน น้ำ แร่ธาตุ และสารอาหาร ไปใช้เลี้ยงแบคทีเรียในถังหมักระบบปิด ผลที่ได้ออกมาคือ กรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต่อร่างกาย เหมือนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หลังจากนั้นได้สกัดออกมา และขึ้นรูป เลียนแบบให้มีรูปร่าง กลิ่น และรสสัมผัสที่คล้ายเนื้อสัตว์
โดยทางแบรนด์ชี้ว่า เนื้อ Air Meat มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปริมาณโปรตีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ทดแทนที่ทำมาจากพืช และเป็นสารอาหารที่ชาววีแกนทานได้
อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ การใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ใช้พื้นที่มาก ปล่อยของเสีย และก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเนื้อทดแทนมากมาย ทั้งเนื้อจากพืช เนื้อเพาะในแล็บ หรือโปรตีนจากแมลง เนื้อจากอากาศนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเนื้อทดแทน ที่คิดมาเพื่อการใช้ทรัพยากรที่น้อย เพิ่มความมั่นคงทางอาหารในอนาคต และเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย