มดในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาของอาฟริกาปกป้องต้นไม้จากช้าง
มดในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาของอาฟริกาปกป้องต้นไม้จากช้าง
มดในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาของอาฟริกาปกป้องต้นไม้จากช้าง
มดตัวเล็กๆ ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาของเคนย่า สามารถป้องกันต้นไม้ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของตนไม่ให้ถูกช้างอาฟริกันทำลาย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่เป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทุ่งหญ้าสะวันนาอีกทางหนึ่ง
ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา Todd Palmer แห่งมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา สังเกตุเห็นว่าต้น Acacia ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาของเคนย่าต้นไหนที่มีมดอาศัยอยู่ ช้างอาฟริกันจะไม่กินหรือแทบจะไม่แตะต้นไม้ต้นนั้นเลย และแม้ไม่เห็นตัวมด แค่ได้กลิ่น ช้างตัวใหญ่ๆก็ยังไม่อยากจะยุ่งเกี่ยว แม้ว่าต้นไม้นั้นจะเป็นอาหารโปรดของช้างแค่ไหนก็ตาม
ศาสตราจารย์ Palmer พบว่าต้นไม้ที่อยู่ไม่ไกลแถบนั้นซึ่งไม่มีมดปกปักรักษา มักจะถูกช้างกินและฉีกทึ้งทำลาย ยกเว้นแต่ต้นที่อยู่ในเขตดินร่วนสีดำซึ่งมีมดทำรังอยู่จำนวนมาก จากการทดสอบนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่า ไม่ใช่เพราะช้างอาฟริกันไม่ชอบกินต้น Acacia แต่อาจเป็นเพราะไม่อยากเผชิญกับมดจำนวนมากรุมไต่ไปตามงวงและกัด โดยงวงช้างนั้นแม้ดูภายนอกจะหนาแข็งแรง แต่ภายในกลับนุ่มและละเอียดอ่อน เมื่อโดนกัดจึงสร้างความปวดแสบปวดร้อนต่อช้างเจ้าของงวงยาวนั้นได้ง่ายๆ ศาสตราจารย์ Palmer บอกว่าหากมีลูกช้างที่ไม่ประสาพยายามกินใบไม้นั้น จะถูกฝูงมดไต่ตามงวงและกัดเอาจนต้องคิดว่า จะไม่ทำอย่างนั้นอีกเด็ดขาด
ปัจจุบันประชากรช้างทั่วอาฟริกากำลังลดลง แต่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าสะวันนาบริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเคนย่านั้นมีจำนวนช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ โดยจำนวนช้างที่เพิ่มขึ้นหมายถึงความเสี่ยงที่จำนวนต้นไม้จะลดลง ศาสตราจารย์ Palmer กล่าวว่าต้นไม้ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศน์และจำเป็นต้องได้รับการปกปักรักษา
นักชีววิทยาผู้นี้ระบุว่า จำนวนต้นไม้ในระบบนิเวศน์ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อวงจรอาหาร วงจรน้ำ และวงจรตามธรรมชาติอื่นๆในสะวันนา ดังนั้นการมีปัจจัยควบคุมสมดุลระหว่างต้นไม้กับทุ่งหญ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจัยต่างๆที่ว่านี้รวมถึง ไฟป่า น้ำฝน สภาพดิน และพฤติกรรมของบรรดาสัตว์กินพืช ดังนั้น การที่มดช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ใหญ่อย่างช้างทำลายต้นไม้จึงมีส่วนสำคัญต่อสมดุลของระบบนิเวศน์เช่นกัน อย่างน้อยก็จนกว่าช้างจะคิดได้ว่า ต้นไม้บางต้นที่มีกลิ่นมดติดอยู่นั้น อาจไม่มีมดจริงๆอาศัยอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งยังต้องมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่อไปในเรื่องนี้
ภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี คศ.2003-2008 แสดงให้เห็นว่าต้น Acacia ที่มีมดอาศัยอยู่นั้นกำลังแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ศาสตราจารย์ Palmer สรุปไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Current Biology ว่าการค้นพบครั้งนี้อาจช่วยในการปกป้องระบบนิเวศน์ของทุ่งหญ้าสะวันนาทั่วโลกได้