นักบรรพชีวินวิทยาได้ค้นพบกระดูกขากรรไกรบนรวมฟันและกระดูกโหนกแก้มที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ชาวยุโรปคนแรกที่มีอายุ 1.4 ล้านปี จากการตรวจสอบเบื้องต้นในเขตขุดค้นทางโบราณคดี ‘เซียร์รา เด อาตาปูเอร์กา’ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน
ก่อนการค้นพบนี้ มีการพบฟอสซิลโฮมินิดที่เก่าแก่ที่สุดในยูโรปนั้นมีอายุ 1.2 ล้านปี เมื่อปี 2008 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าร่องรอยเหล่านี้แสดงให้เห็นการอพยพของบรรพบุรุษมนุษย์จากแอฟริกามายังทวีปยุโรปและช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของใบหน้ามนุษย์ในยุคปัจจุบัน
“การขุดค้นที่ระดับ 7 ของไซต์ใน ‘ถ้ำซิมา เดล เอเลฟานเต (Sima del Elefante)’ ทำให้เราประหลาดใจด้วยการค้นพบที่พิเศษ นั่นคือบางส่วนของใบหน้ามนุษย์ที่มีอายุ 1.4 ล้านปี” มูลนิธิ Atapuerca ที่ดำเนินการขุดค้น กล่าวในแถลงการณ์
ทีมงานต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อสรุปว่ากระดูกนี้เป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานราว 6-8 เดือน บางคนเชื่อว่าอาจเป็นกระดูกของ ‘Homo antecessor’ (ภาษาละตินแปลว่า “ผู้บุกเบิก”) ขณะที่บางคนแย้งว่านี่อาจเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษร่วมกันคนสุดท้ายระหว่าง ‘Homo sapiens’ และ ‘Neanderthals’ อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างแรกสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่กล้าเดินทางเสี่ยงภัยไปยังยุโรป
“เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าขากรรไกรบนชิ้นนี้จะเป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใด และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเปรียบเทียบพิจารณา” จอห์น ฮอว์ก (John Hawks) นักมานุษวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขุดค้นนี้กล่าวกับสำนักข่าว Live Science พร้อมเสริมว่า “ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เชื่อมโยงอยู่กับพื้นที่ที่มีหลักฐานพฤติกรรมต่าง ๆ เช่นการทำเครื่องมือหิน หรือการล่าสัตว์ที่บ่งบอกถึงความสามารถของบรรพบุรุษและญาติของเรา สำหรับผม นั่นคือส่วนสำคัญ”
โฮโมเซเปียนส์’ เป็นสมาชิกกลุ่มสุดท้ายของ ‘โฮมินิด’ ที่ออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อราว 60,000 ปีก่อน (บ้างก็ว่าราว 200,000 ถึง 100,000 ปีก่อน) และพวกเขาน่าจะเข้าสู่ทวีปยุโรปเมื่อประมาณ 54,000 ถึง 45,000 ปีก่อน ซึ่งเข้ามาเทนที่ ‘นีแอนเดอร์ทัล’ อย่างรวดเร็วจนถูกผลักให้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 40,000 ปีก่อน ทั้งนี้ตัวเลขเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะความสับสนและซับซ้อนของหลักฐาน
Photograph by Susana Santamaria